ความหิว นั้นยังพอรับมือได้ แต่กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มนี่สิ ปัญหาปวดใจของใครหลายคน อิ่มของคาวยังไม่พอ มีกระเพาะแยกไว้สำหรับของหวานไปอีก ยังไม่นับรวมเครื่องดื่มจิปาถะ ร้อน เย็น ปั่นทั้งหลาย คาร์ดิโอ้จนเหงื่อไหลจั๊กแร้เปียกเพื่อพบว่าที่สูญเสียไปมีแค่ปริมาณน้ำในร่างกาย หาใช่ไอ้สิ่งที่ยื่นออกมาบังเท้าเวลาเราก้มมองตราชั่งไม่ ได้แต่คิดว่า ถ้าน้ำหนักลดง่ายๆ เหมือนเงินในบัญชีที่ขยับเพียงปลายนิ้วก็ลดฮวบ ๆ ก็คงจะดี…แล้วถ้าเรารู้สาเหตุของความหิว เราจะความคุมความหิวของเราได้มั้ยนะ? หรือจริง ๆ แล้ว ไม่กินได้ไหม ?
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินส่วนของสมองที่เรียกว่า ไฮโพทาลามัส (hypothalamus) ซึ่งเจ้านี่แหละที่เป็นศูนย์ควบคุมความหิวที่ส่งสัญญาณไปยังกระเพาะอาหารให้สร้าง growth hormone ที่เรียกว่า เกรลิน (Ghrelin) มา กระตุ้นต่อมหิวและแสดงอาการออกมาทางร่างกาย เริ่มจากเสียงท้องร้องครืดคราดประหลาด ๆ หนักมากเข้าก็มือไม้สั่น หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม ส่วนทางอารมณ์ก็หงุดหงิดงุ่นง่าน หรือที่เราเรียกกันแบบบ้าน ๆ ว่าโมโหหิว หรือบางคนต้องการลดความอ้วนจัด เลยเกิดคำถามในหัวว่า ไม่กินได้ไหม ซึ่งอาการเหล่านี้จะหมดไปเมื่อร่างกายได้รับอาหารแล้วนั่นเอง
ความหิวคือกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากร่างกายคุณได้รับอาหารเพียงพอแล้ว ความหิวก็จะหายไป ดังนั้นถ้าคุณหยุดความหิวตัวเองไม่ได้ บอกว่าธรรมชาติลงโทษก็อาจจะช่วยให้สบายใจได้ระดับนึง
อาหารที่เรากิน 3 มื้อแบบทุกวันนี้ มีตำนาน (แบบไทย ๆ) เล่าว่า สมัยก่อนนู้นคนเรากินแค่มื้อเช้ากับมื้อเย็น อยู่มาวันหนึ่ง เทวดาสั่งให้ควายซึ่งเป็นพาหนะอยู่บนสรวงสวรรค์ลงมาบอกเหล่ามนุษย์ว่า ‘หากตายแล้วอยากขึ้นมาอยู่บนสวรรค์ล่ะก็ จงบำเพ็ญเพียร ภายใน 3 วันให้กินแค่ 1 มื้อ’ แต่เนื่องจากระยะทางจากสวรรค์มาโลกนั้นไกลมาก ควายตัวแรกจึงฝากเพื่อนควายตัวอื่นๆ ให้ช่วยบอกต่อกันมาเรื่อยๆ ไม่รู้ผิดเพี้ยนที่ควายตัวไหน ตัวสุดท้ายที่มาถึงมนุษย์บอกว่า ‘ใน 1 วัน ต้องกิน 3 มื้อ ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์’ สุดท้ายรู้ถึงหูพระอินทร์ก็ทรงกริ้วมาก แต่เทวดาพูดแล้วจะคืนคำก็ไม่ได้ ท่านเลยสั่งให้ควายไปช่วยมนุษย์ไถนาชดเชยความผิดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกายคนเราต้องการกิน 3 มื้อจริงหรือเปล่า?
ในช่วงที่กระแสลดน้ำหนักมาแรง บางสำนักบอกให้อดข้าวเย็น เน้นกินหนักข้าวเช้า ต่อมาก็บอกว่า ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ 4-5 มื้อแทนที่จะเป็นมื้อใหญ่ ๆ แต่จากหลายการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การกินอาหารที่มีความถี่เพิ่มขึ้น (มากกว่า 3 มื้อต่อวัน) ก็ไม่ได้ทำให้การควบคุมความอยากอาหารดีขึ้นหรือส่งผลต่อการควบคุมความอยากอาหารให้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ล่าสุดมีงานวิจัยออกมาอีกแล้วว่า เราไม่ต้องกิน 3 มื้อก็ได้ แต่ควรจะกินก็ต่อเมื่อร่างกายเราบอกว่าหิวตามกิจวัตรประจำวันของเราเอง เพื่อลดการเผาผลาญและช่วยให้ชีวิตยืนยาวขึ้น
สรุปแล้วเราควรจะไปทางไหน? ไม่กินได้ไหม ?
ไม่กินได้ไหม อาจะเป็นคำถามที่หลายคนมักสงสัย บางครั้งเวลาเราเห็นรูปอาหารหน้าตาดูดีตามหน้าฟีดหรือไทม์ไลน์ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มันช่างกระตุ้นให้เราอยากจะพุ่งตัวไปหาของกินบัดเดี๋ยวนั้น รู้สึกหิวสเต็ก พาสต้า ไก่ทอดเกาหลี ซูชิ บิงซูต่าง ๆ นานาขึ้นมาปัจจุบันทันด่วน แต่กระนั้น จะให้กินแค่สลัดหรือข้าวผัดกระเพราอกไก่แบบ คลีนๆ ก็ดูเหมือนจะแทนกันไม่ได้ ดังนั้น ถ้าถามว่าไม่กินได้ไหม ก็คงตอบชัดเจนว่าไม่ได้! ที่เรากินไม่ใช่เพราะเราหิวสักหน่อย ก็คนมันอยากกินต่างหาก!
ทางออกที่ดีที่สุดของสายกิน อาจจะไม่ใช่การไดเอท เพราะต่อให้เราสามารถควบคุมความหิว หรือแม้แต่ยอมเจ็บตัวผ่าตัดกระเพาะเพื่อให้กินได้น้อยลงก็ตาม ถ้าความอยากของเรายังอยู่ ในที่สุดแล้วก็จะกลับมากินๆๆๆ อย่างที่ใจเราอยากจะกินเหมือนเดิมอยู่ดี ดังนั้นคีย์เวิร์ดสำคัญของสายกินคือ เราต้องออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพของตัวเราเอง และเพื่อการเผาผลาญที่ดีขึ้น ในส่วนของวิธีการออกกำลังกายก็จะขึ้นอยู่แต่ละบุคคลเป็นหลัก แล้วแต่ว่าสบายใจในทางไหน มีให้เลือกทั้ง Weight-Training, Cardio, HIIT, Body Combat และอีกมากมายให้เลือกสรร (ซึ่งควรทำตามที่เราไหว ไม่ใช่หักโหมจนเกินไป) ในระยะแรกถ้าเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานเลย ก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
เพราะถึงเราจะเป็นหมู แต่ก็จะเป็นหมูสุขภาพดียังไงล่ะ!
—–
อ้างอิง :
- Chemical messengers : how hormones make us feel hungry and full
- How 3 Meals A Day Became The Rule, And Why We Should Be Eating Whenever We Get Hungry Instead
- ความหิว ความอยากอาหาร ความอิ่ม คืออะไร
สามารถอ่านบทความอื่นได้ที่ blog