พูดถึงสัญลักษณ์สำคัญใน วันแม่ ก็ต้องคิดถึง ดอกมะลิ ที่เป็นตัวแทนของความรักที่มีต่อแม่ของเราอย่างแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่าดอกมะลิสามารถกินได้ และมีประโยชน์ที่อาจคาดไม่ถึง วันนี้ Hungry Hub จะพาไปหาคำตอบกันว่าในดอกมะลิ สามารถกินส่วนไหนได้บ้าง แล้วมีสรรพคุณอย่างไร ไปหาคำตอบพร้อมกันได้เลยในบทความนี้
ดอกมะลิ คืออะไร?
ดอกมะลิ หรือ มะลิ จัดเป็นพืชประเภทไม้พุ่มและพืชวงศ์มะลิที่มีราวๆ 200 กว่าชนิดทั่วโลก มักจะเติบโตแบบเป็นช่อ ตามโซนเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป แอฟริกา และ เอเชีย แน่นอนว่ารวมถึง ประเทศไทย ด้วย โดยในแต่ละชนิดก็จะมีดอกและกลิ่นที่แตกต่างกันออกไปและนอกจากนี้ ดอกมะลิลา หรือ มะลิซ้อน ก็ยังเป็น ดอกไม้ประจำชาติ ของประเทศอินโดนิเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ รวมไปถึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ วันแม่แห่งชาติ ของประเทศไทยอีกด้วย
สายพันธุ์ของมะลิ แยกออกได้เป็นดังนี้
อย่างที่ได้เกริ่นไปดอกมะลิในทั่วโลกมีจำนวนที่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่ว่าสามารถแบ่งแยกตามสายพันธ์ุได้เป็น 4 ชนิดดังนี้
- มะลิลา หรือ มะลิซ้อน มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า มะลิป้อม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง มีใบที่หนาแน่น มักจะพบเจอได้ในแถบเอเชียิ เช่น อินเดีย หรือ คาบสมุทรอาระเบีย โดยจะออกดอกตลอดทั้งปี และมีส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในช่วงที่อุณหภูมิต่ำ จะส่งกลิ่นที่หอมมากยิ่งขึ้น
- มะลุลี เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง สายพันธ์ุพื้นเมืองของไทย สามารถเลื้อยได้มากสุดถึง 2-5 เมตร มีใบเดี่ยวทรงรี ปลายใบแหลม โคนใบมน มีดอกที่ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงสีเขียวเป็นซี่เรียวแหลม และกลีบดอกสีขาวสวยงาม และจะส่งกลิ่นหอมมากในช่วงค่ำ
- มะลิถอด เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื่อย มีความสามารถในการเลื้อยได้น้อยกว่า มะลุลี เพียงแค่ 1-2 เมตรเท่านั้น เป็นสายพันธุ์ของดอกมะลิที่มีต้นกำเนิดจากอินเดียและประเทศในแถบเอเชียกลาง จึงไม่ใช่สายพันธุ์ที่อยู่ในไทย ตามที่หลายๆคนเข้าใจผิด โดยใบจะมีรูปร่างคล้ายไข่ ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีขนาดเล็กกว่าดอกมะลิทั่วไปอย่างมาก และส่งกลิ่นที่มีความหอมชื่นใจ
- มะลิฉัตร เป็นสายพันธุ์ของดอกมะลิที่แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า เพราะว่าต้นกำเนิดจะไม่ได้อยู่ที่ เอเชีย แต่จะมีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ ซึ่งดอก และกลีบดอกจะมีการซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีขนาดเล็ก เรียวแหลม ซึ่งด้วยการที่ซ้อนเป็นชั้นๆจึงทำให้มีรูปร่างคล้ายกับฉัตร ที่เป็นเครื่องสูงที่ใช้สำหรับสำหรับตกแต่งเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ
ทำไมดอกมะลิถึงเป็นสัญลักษณ์ประจำ วันแม่?
หลายๆคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่าดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่มักจะนิยมให้เป็นของขวัญประจำวันแม่แห่งชาติ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วมีเรื่องราวที่หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้อยู่ ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปในสมัยโบราณดอกมะลิ เป็นดอกไม้มงคลของพระนารายณ์ โดยหลายๆคนมักจะนิยมนำดอกมะลิมาถวายสักการะบูชา สิ่งทำให้ดอกมะลิจึงเป็นดอกไม้ที่มักจะนำมาบูชาเพราะว่ามีการส่งกลิ่นที่หอม และมีสีขาวที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ เมื่อเวลาผ่านไปดอกมะลิก็ถูกนำมาร้อยเรียงเป็น พวงมาลัย เพื่อมอบให้กับมารดาเพื่อเปรียบเสมือนกับการมอบความรัก ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์โดยที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย
ดอกมะลิกินได้ไหม?
นอกจากนำไปถวายสักการะ หรือ มอบในวันแม่แล้ว หากจะถามว่าดอกมะลิสามารถนำมากินได้หรือไม่? คำตอบก็คือ ได้ครับ เพราะในประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน และในช่วงหน้าร้อนมีอุณหภูมิที่สูงจึงทำให้คนสมัยก่อนมักจะใช้ดอกมะลิ เป็นเครื่องหอมรวมกับดินสอพองเพื่อลดความร้อน นำมาลอยน้ำ ทำข้าวแช่ หรือ ชาดอกมะลิ เพื่อเพิ่มความสดชื่นของร่างกาย
สรรพคุณของดอกมะลิ
ดอกมะลิ มีลักษณะเป็นพืชที่เมื่อรับประทานแล้วจะมีความหอมเย็น จึงเหมาะกับการนำมาทำเป็น เครื่องดื่มลอยน้ำ ข้าวแช่ หรือ ชาดอกมะลิ ในแต่ละส่วนของดอกมะลิก็จะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
- ส่วนดอก จะมีน้ำมันระเหยประมาณ 0.2 – 0.3% และสารต่างๆในน้ำมันระเหยที่ทำให้มีกลิ่นหอม รวมไปถึงสารอื่นๆ ที่ให้สรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือดโคโรนารี อาทิ แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ แก้ปวดท้อง รักษาแผลพุพอง แก้อาการปวดหัว ทำให้รู้สึกชุ่มชื่น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำเป็นต้น
- ส่วนใบ มีสารที่สำคัญมากมาย อาทิ flavonoid, triterpenoid, irridoid glycoside และมีสรรพคุณที่ช่วย แก้อาการเจ็บหู แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้หวัดแดด แก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องเฟ้อ แก้นิ่วในถุงน้ำดี แก้ฝีหนอง แก้โรคผิวหนัง ช่วยขับน้ำนมของสตรีเป็นต้น
- ส่วนราก รากของดอกมะลิ มีสรรพคุณที่เยอะไม่แพ้กับส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แก้ปวด แก้ลดอาการนอนไม่หลับ แก้ปวดศีรษะ แก้เยื่อตาอักเสบ แก้ปวดฟัน แก้ร้อนใน รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน แก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ รักษาอาการเกี่ยวกับทรวงอก แก้เสียดท้อง ช่วยขับประจำเดือน แก้เคล็ดขัดยอก
คำแนะนำเพิ่มเติม : ถึงแม้ว่าดอกมะลิจะมีสรรพคุณที่มากมายแต่ถ้าหากกินติดต่อกันนานจนเกินไป อาจจะส่งผลทำให้เกิอาการเฉื่อยชา หลงลืมง่าย และอาจจะทำให้สลบไปได้ เพราะมะลิมีสารบางตัวที่ส่งผลต่อระบบประสาท นอกจากนี้ดอกมะลิมีรสที่หอมเย็นอาจจะส่งผลทำให้อาการจุกเสียดแน่นมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น
อ้างอิง : เมดไทย | กรุงเทพธุรกิจ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ ความรู้เกี่ยวกับ ดอกมะลิ ที่นำมาฝากในช่วงวันแม่ในครั้งนี้ เพราะดอกมะลินอกจากจะเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนของความรักให้กับแม่ของเรา แล้วก็ยังสามารถนำมารับประทานพร้อมกับสรรพคุณมากมายที่ดีและมีประโยชน์อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากดอกมะลิในปัจจุบันเป็นการปลูกเพื่อเศรษฐกิจมากขึ้น สารเคมีก็อาจจะมีมากตามกัน ดังนั้นควรสังเกตุให้ดี ก่อนการรับประทานเพื่อลดการเกิดอันตรายกับร่างกายเราด้วยนะครับ
สามารถติดตามโปรโมชั่น ที่ไม่ควรพลาดได้ที่ Facebook : Hungry Hub แอปจองมื้อพิเศษอันดับ 1 ของไทย
อ่านบทความอื่นๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่