ตื่นๆ นักถ่าย นักโพสต์ทุกคนถึงเวลาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA กันเเล้ว หลังจากประกาศใช้กฎหมายนี้ออกมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 คงทำให้หลายคนต้องผวาไปตามๆกัน เพราะมีโทษปรับสูงสุดถึง 3,000,000 บาท กันเลยทีเดียว แต่อย่าเพิ่งตกใจกันไปมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นเพียงต้องระมัดระวังและทำความเข้าใจให้มากขึ้น วันนี้ฮังกรี้ฮับมาสรุปสิ่งที่มักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA มาให้ฟังกัน ไปทำความเข้าใจกันเลย !
PDPA คืออะไร ?
PDPA คือ ย่อมาจากคำว่า Personal Data Protection Act หรือพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ผู้อื่นนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยที่ไม่ยินยอมทั้งข้อมูลทางตรงและทางอ้อม โดยได้มีการนำกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565
หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจกับคำว่า PDPA ไปกันเเล้ว หลายคนคงสงสัยว่าเเล้วถ้าสายถ่ายรูปหรือถ่ายคลิป อาหาร ร้านอาหาร และชอบโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียอย่างเราจะผิด PDPA ไปด้วยหรือไม่ เพราะเราคงหลีกเลี่ยงการที่จะถ่ายติดผู้คนได้ยาก ดังนั้นเราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ 4 เรื่องยอดฮิตของ PDPA ที่มักจะเข้าใจผิดกัน
1. กรณีถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปวีดีโอติดผู้อื่น
หากเป็นการถ่ายที่ไม่ได้มีเจตนาหรือทำให้เกิดความเสียหาย และเป็นการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว เราสามารถถ่ายได้ตามปกติโดยไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และไม่จำเป็นที่จะต้องเบลอ แต่ถ้าหากการถ่ายรูปแล้วนำไปใช้เพื่อเชิงพาณิชย์ เช่น Photostock ควรที่จะแจ้งกับคนที่เราจะถ่ายให้ได้ทราบก่อน เพราะจะได้ไม่เกิดการฟ้องร้องและความเข้าใจผิดเกิดขึ้น
2. กรณีโพสต์รูปถ่ายหรือคลิปลงโซเชียลมีเดียโดยติดผู้อื่น
หากเราไม่ได้โพสต์ลงเพื่อการหาผลกำไรหรือสร้างความเสียหาย และเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวเพียงเท่านั้นก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นโพสต์วนไปได้เลยจ้า
3. กรณีติดกล้องวงจรปิดหรือติดกล้องที่รถยนต์ส่วนตัว
หากเราติดเพื่อป้องกันอาชญากรรมหรือรักษาความปลอดภัยให้ตนเองถือว่าไม่ผิดกฎหมายของ PDPA
4. กรณีการนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้
เราไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอมเสมอ หากการนำข้อมูลของเราไปใช้ในกรณีดังนี้
4.1 เป็นการทำตามสัญญา
4.2 เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
4.3 เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตหรือร่างกายของบุคคล
4.4 เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
4.5 เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
4.6 เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือสิทธิของตนเอง
เป็นไงกันบ้าง? จากที่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA คืออะไร กันมาเเล้ว คงทำให้คลายความกังวลให้นักถ่ายรูปหรือนักถ่ายคลิปวีดีโอ อย่างพวกเรากันอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราควรระมัดระวังในการถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปวีดีโอที่ติดผู้อื่นอยู่เสมอเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายภายหลังที่อาจเกิดขึ้นได้
สามารถติดตามข่าวสารของเราได้ที่ Facebook : Hungry Hub – แอปจองมื้อพิเศษอันดับ 1 ของไทย