มารยาทบนโต๊ะอาหารบางทีก็เป็นเรื่องอ่อนไหวและกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันไปใหญ่โต เราอาจนึกไม่ถึงว่าอาหารเหลือทิ้งแค่คำเล็กๆ นี้จะกลายเป็นปัญหายิ่งใหญ่ระดับโลก อย่างเรื่องมลพิษและโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างเช่นทุกวันนี้ไปได้อย่างไร
เมื่ออิ่มแล้วบางคนจะต้องเหลือติดจานไว้บ้างสักหน่อยเพื่อให้ดูไม่น่าเกลียด บางคนก็รู้สึกว่าหากไปเป็นแขกที่บ้านใครแล้วทานอาหารจนเกลี้ยง อาจจะทำให้เจ้าบ้านรู้สึกว่าเตรียมอาหารให้แขกไม่เพียงพอ หรือบางทีที่ต้องร่วมโต๊ะกับคนที่ไม่สนิทคุ้นเคยหรือคนที่ไม่กล้าแตะชิ้นสุดท้ายเหมือนกัน เจ้า “ชิ้นเกรงใจ” นี่ก็เลยต้องกลับกลายเป็นของเหลือไปอย่างน่าเสียดาย หรือแม้กระทั่งช่วงที่กระแสไดเอทมาแรงมากๆ อาหารบางประเภทในจานก็ถูกเขี่ยทิ้งไปอย่างไม่ไยดี เพียงเพราะมันเป็นแป้งหรือแคลอรี่สูง
แต่เชื่อหรือไม่ว่า หนุ่มๆ บางคนถึงกับบอกบายสาวๆ หากพบว่าเธอสั่งอาหารมาเยอะแล้วกินไม่หมดในการเดทครั้งแรก!
ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกินทิ้งกินขว้างมองว่า การกินอาหารไม่หมดกลับเป็นการเสียมารยาทมากกว่า หลายคนให้ความเห็นว่า “สงสารชาวนาที่ต้องตรากตำกว่าจะได้มาซึ่งข้าวแต่ละเม็ด” บ้างก็บอกว่า “นึกถึงเด็กเอธิโอเปียที่เขาต้องอดอยากไม่มีจะกิน” หรือบางคนถึงขั้นสาปแช่งให้ “กลายเป็นคนอดอยาก อนาคตฐานะตกต่ำจนไม่มีอันจะกิน เนื่องจากทำให้พระแม่โพสพโกรธ” กันเลยทีเดียว ซึ่งตามความเข้าใจแล้วคิดว่า เบื้องหลังของเหตุผลต่างๆ นานานี้ เจตนาให้เราเห็นคุณค่าของอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราและใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่ามากกว่า
ในขณะที่เรากำลังถกเถียงกันเรื่องกินทิ้งกินขว้าง อีกด้านหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยักษ์และบรรดาโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบุฟเฟ่ต์ไลน์ การทิ้งอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวันถือเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อคงคุณภาพและป้องกันปัญหาด้านสุขอนามัยที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าอันนำมาสู่การเสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของแบรนด์
รู้หรือไม่ว่าอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในโลกปริมาณหลายพันตันหรือกว่า 30% กลายเป็นของเหลือทิ้ง แค่เฉพาะประเทศอเมริกาคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และในแต่ละปีต้องใช้พื้นที่ทิ้งขยะเกือบๆ 2 ล้านตารางกิโลเมตรซึ่งใหญ่เท่ากับขนาดของประเทศเม็กซิโก ทั้งยังสร้างก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนถึง 10% ของประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย
ที่จริงแล้วอาหารที่เราจะต้องทิ้งเหล่านี้ได้ย้อนกลับมาสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่การจัดการขยะที่มีปริมาณมหาศาล และการที่จะต้องนำงบประมาณและทรัพยากรอีกมากมายมาใช้เพื่อกำจัดของเสียซึ่งเป็นมลพิษทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายๆ ร้านอาหารจึงพยายามลดปัญหานี้ด้วยการผันตัวเองมาทำ อะ ลา คาร์ท บุฟเฟ่ต์ ที่ให้สั่งเป็นจานๆ แทน
ใครจะคิดว่าอาหารที่เหลือทิ้งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ และฟังดูเป็นปัญหายิ่งใหญ่เกินเอื้อมที่เราจะเข้าไปแก้ การที่เรากินข้าวหมดจนเม็ดสุดท้าย จะสามารถช่วยเติมเต็มท้องของคนอดอยากในประเทศยากไร้ได้หรือไม่? การกินข้าวเหลือจะทำให้ชาวนาเสียใจรึเปล่า? เหตุผลเหล่านี้อาจจะไม่ช่วยคนที่คิดต่างสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างยั่งยืนและยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่อย่างน้อยมันย่อมดีกว่าถ้าเราลงมือทำอะไรสักอย่าง เริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวเอง เพราะในยุคปัจจุบันที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดนั้น การ “เหลือทิ้ง” ย่อมไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน ถึงเราจะแก้ไขไม่ได้ในทันที แต่ก็สามารถช่วยแบ่งเบาและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย
วิธีง่ายๆ ที่คุณก็อาจจะช่วยกอบกู้โลกได้เมื่อไปทานอาหารที่ร้าน
- วางแผนการกินให้ดี : ส่วนใหญ่เมื่อหิวตาลายเรามักสั่งอาหารมาเยอะเกินความจำเป็นทำให้กินไม่หมด ควรตั้งสติแล้วค่อยๆ สั่งดีกว่า
- ตักอาหารแต่พอดี : โดยเฉพาะเมื่อไปกินบุพเฟ่ต์ที่อาหารต่างๆ ล้วนล่อตาล่อใจให้คุณไปตัก การพยายามกินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้อาจกลายเป็นผลเสียกว่าที่คุณคิด เพราะนอกจากจะถูกปรับเมื่อทานเหลือให้เสียความรู้สึกแล้ว ที่แย่กว่าคือต้องทรมานกับอาการอาหารไม่ย่อย และการยัดทุกสิ่งอย่างจนเกินความต้องการจะทำให้สุขภาพย่ำแย่ในระยะยาวอีกด้วย
- ห่อกลับเมื่อมีโอกาส : หากปริมาณอาหารเหลือเยอะ การห่อกลับบ้านนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนจากก๊าซมีเทนที่เกิดจากขยะอาหารแล้วยังเป็นการช่วยเราประหยัดไปได้อีกทางหนึ่ง
ก่อนจากขอส่งท้ายด้วยโฆษณานี้นะคะ #ฝากไว้ให้คริสสส
ชุดโฆษณา “ป.ปลานั้นหายาก” (Production : Matching Studio)
อ้างอิง :
- BBC – Travel – Play your part in the global food crisis
-
National Geographic : One-Third of Food Is Lost or Wasted: What Can Be Done