ถ้าคุณเป็นคนนึงที่ไปร้านอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ไปร้านหรูๆ แล้วกินอย่างเก้ๆ กังๆ เพราะจับตะเกียบไม่เป็น คีบปลาดิบไม่ติด คีบวาซาบิไม่ได้ คีบปลาไปจุ่มซอสปลาก็ดันหลุดมือลงไปว่ายในโชยุซะอย่างงั้น แถมเงยหน้ามาอีกทีเพื่อนคีบชิ้นที่เล็งไว้ไปอีก ที่แย่ไปกว่านั้นจับตะเกียบผิดๆ ถูกๆ จนตะเกียบหลุดมือตกกระจายนี่เป็นอะไรที่น่าอายมาก (แม้ว่าภายนอกจะดูนิ่งๆ คูลๆ เก็บอาการไว้อยู่ก็เถอะ) เราคือเพื่อนกัน!
รู้หรือไม่(ก็ได้)
วันที่ 4 เดือน 8 ของทุกปีถือเป็นวันตะเกียบของญี่ปุ่น เกิดจากการพ้องเสียงของคำว่า hashi ที่แปลว่าตะเกียบกับคำว่า hachi และ shi ก็คือเลข 8 กับเลข 4 นั่นเอง ซึ่งในวันนี้จะมีงานเทศกาล Hashikanshasai ( 箸感謝祭 ) ที่ ศาลเจ้าฮิเอะ (โตเกียว) เป็นการขอบคุณสิ่งศักด์สิทธิด้วยตะเกียบด้วยนะ
ก่อนจะเข้าถึงสมรภูมิชิงไอเท็มเด็ดบนจานซาชิมิรวม คุณจะต้องรู้จักอาวุธในมือของคุณก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากวัฒนธรรมการกินของคนญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยมีการแชร์กับข้าวร่วมกันมากจึงทำให้ตะเกียบของญี่ปุ่นออกแบบมาให้สั้นกว่าตะเกียบของชาติอื่นๆ ที่ใช้ตะเกียบเหมือนกัน นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมีตะเกียบหลายแบบเพื่อการใช้งานที่ต่างกันอีกด้วย ตะเกียบที่เราจะต้องเผชิญนั้น ถ้าร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใส่ใจในรายละเอียดความญี่ปุ๊นญี่ปุ่นมากๆ ก็จะเป็นตะเกียบแบบปลายแหลมทำจากไม้ที่เหมาะกับการคีบปลาเป็นอย่างยิ่ง แต่เพื่อความสะดวก เดี๋ยวนี้หลายๆ ร้านมักใช้ตะเกียบที่เป็นไม้ชิ้นเดียวแล้วมีร่องให้สามารถบิเป็นสองส่วนได้มากกว่า ซึ่งมันคีบไม่อยู่ไง!
แต่ถ้าคุณมีสกิลการจับตะเกียบแบบชาวญี่ปุ่นแล้ว จะปลายมน ปลายเหลี่ยม ปลายแหลมก็ไม่สำคัญ ซึ่งวิธีการของชาวญี่ปุ่นนั้นต่างจากวิธีที่คุณเคยเห็นและมันง่ายมากๆ ลองหาอะไรที่เป็นแท่งๆ ขนาดใกล้ๆ กันมา 2 อัน สมมุติว่ามันเป็นตะเกียบแล้วมาฝึกไปพร้อมกันดีกว่า !
1.ให้จับตะเกียบขึ้นมาด้วยนิ้ว 3 นิ้วคือ โป้ง ชี้ กลาง เหมือนกับจับปากกาตอนที่เรากำลังจะเขียน (แต่ถ้าตอนที่กำลังฝึกวิทยายุทธนี้ใช้ปากกาแทนตะเกียบอยู่ ก็นั่นแหละจับแบบนั้นเลย) แล้วลองดูว่าขยับขึ้นลงได้รึเปล่า
2. เอาตะเกียบอีกอันมาสอดไว้ระหว่างโคนนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ หนีบมันไว้ แล้วเอาวางพาดที่ปลายนิ้วนาง
3. ฝึกคีบด้วยการขยับแค่ตะเกียบอันบนด้วยการใช้นิ้วกลางช่วยประคอง ง่ายใช่มั้ยล่ะ
.
คุณสามารถฝึกจากคีบของที่ขนาดกำลังพอเหมาะ ผิวสัมผัสไม่ลื่นดูก่อน เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ คุณจะพบว่าสามารถคีบอาหารได้แน่นและง่ายขึ้น และเมื่อคุณอัพเลเวลไปจนถึงขั้นที่คุณสามารถใช้ตะเกียบคีบเมล็ดถั่วเขียวทีละเม็ดได้แล้ว ถือว่าคุณสำเร็จวิทยายุทธการใช้ตะเกียบ พร้อมสำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นมื้อต่อไป!
การใช้ตะเกียบของคนญี่ปุ่น ยังมีรายละเอียดยิบย่อยและยังมีข้อห้ามอีกมากมาย เอาไว้จะมาเล่าในโอกาสหน้านะคะ