ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในยุคดิจิตอลโดยเฉพาะชาวกรุงที่ใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียว เพื่อนกินไม่ได้หาง่ายเหมือนคำโบราณเคยว่าไว้ สำหรับหลายคน การเข้ามาทำงานในเมืองหมายถึงการที่จะต้องห่างจากครอบครัว เพื่อน หรือสังคมที่เราเคยอยู่ การ กินข้าว เพียงลำพังนั้นถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับบางคนที่มุ่งหน้าไปสายสตรองแล้วกินคนเดียวได้ไม่มีปัญหา แต่ก็ยังมีอีกหลายคนต้องทำใจให้ชิน
มันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะพูดเลยว่าความเหงาทำให้เราเจ็บป่วยได้ขนาดไหน มีผลวิจัยมากมายออกมาบอกว่าการ กินข้าว เหงาๆ เพียงลำพังอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
ในบางประเทศเช่น ประเทศเกาหลีใต้ หากเราไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารจริงจัง แบบไม่ใช่อาหารจำพวกของกินเล่น สังเกตได้ว่าปริมาณที่เสิร์ฟที่ร้านอาหารเกาหลีนั้นจะมีขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้เนื่องมาจากปกติแล้วคนเกาหลีมักไม่ค่อยไปกินข้าวที่ร้านคนเดียว แม้ในปัจจุบันจะมีร้านอาหารที่เปิดกว้างสำหรับคนที่ต้องการกินข้าวคนเดียวมากขึ้น แต่คนที่กินข้าวคนเดียวก็ยังคงถูกสังคมมองด้วยสายตาแปลก ชวนให้คนถูกมองรู้สึกประหลาดอยู่ดี หลายคนจึงจบที่ต้มบะหมี่กินอยู่บ้าน หรือคว้าอาหารอะไรง่ายๆ กินแทน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนที่กินข้าวคนเดียวมักมีแนวโน้มว่าจะกินอาหารฟาสต์ฟู้ดมากกว่าปกติถึง 2 เท่าตัว ตามมาด้วยปัญหาด้านสุขภาพอีกนับไม่ถ้วน
แล้วประเทศที่การกินคนเดียวเป็นเรื่องปกติอย่างไทยล่ะ?
สำหรับชาวกรุงที่ใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวมีแนวโน้มว่าจะทำกับข้าวกินที่บ้านลดลง จากการศึกษากลุ่มประชากร พบว่าผู้ที่รับประทานอาหารคนเดียวมากกว่า 2 มื้อต่อวันมักกินอาหารที่ทำง่ายๆ จำพวกอาหารเวฟแช่แข็ง อาหารตามสั่ง หรืออาหารจานด่วนซึ่งหนีไม่พ้นเมนู ผัดๆ ทอดๆ ซึ่งเป็นอาหารที่ไขมันสูงและไม่หลากหลายเท่าที่ควร เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะคอเรสเตอรอลในเลือดสูง และโรคอ้วน
การไปกินข้าวคนเดียวนั้นอิสระกว่าก็จริง แต่ในทางตรงกันข้ามเรากลับโฟกัสที่มื้ออาหารได้น้อยลงเพราะมัวแต่เบียงเบนจุดสนใจไปที่โทรศัพท์ที่เราหยิบมันขึ้นมาไถ อ่านอะไรไปแก้เก้อ ทำให้เรารับรสชาติของอาหารหรือบรรยากาศรอบตัวได้น้อยลง รวมถึงอาจเกิดอาการอาหารไม่ย่อยเนื่องจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด และที่สำคัญการก้มหน้าดูมือถือมากๆ เพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากบรรดามนุษย์เงินเดือนผู้ไม่พร้อมใจกินข้าวลำพังจะต้องเสี่ยงกับโรคต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าปกติแล้ว ผู้สูงอายุที่บ้านเราก็ไม่ควรจะละเลย การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ยิ่งเสี่ยงต่อโรคทางจิตวิทยามากกว่าวัยอื่น ๆ และมีแนวโน้มที่คนอายุต่ำกว่า 50 ปีจะเสี่ยงโรคนี้กันเพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้ชีวิตตัวคนเดียวอาจทำให้เสี่ยงโรคความจำเสื่อมอีกด้วย
แน่นอนว่าการกินข้าวคนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มันย่อมดีกว่าเมื่อมีคนมาพูดคุย ปรับทุกข์ และแบ่งปันกัน ลดปัญหาความเครียดสะสมที่มีอยู่ให้เบาบางลงได้ หากเบื่อการกินข้าวคนเดียวแล้ว สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยการลองชวนเพื่อนร่วมงานที่ยังโสดไปลองกินอาหารที่ร้านใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยลองหลังเลิกงาน ชวนเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบปะกันนานมากินร้านอร่อยๆ ที่คุณชอบในบางครั้ง หรือชวนครอบครัวมากันแบบพร้อมหน้าเดือนละครั้ง เพื่อให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างแทนที่จะมัวแต่ไถมือถือทำเป็นยุ่งไปพลางๆ ในระหว่างกินข้าว
บรรยากาศที่ไม่เงียบเหงาเหมือนอยู่ตัวคนเดียวจะช่วยให้เรามีสุขภาพจิตดีขึ้น เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ได้กินอาหารที่หลากหลาย ครบตามที่ร่างกายต้องการ อิ่มแบบไม่เหงาแถมสุขภาพกายและใจดีขึ้นอีกด้วยนะ
อ้างอิง :
Meals for one: how eating alone affects the health of the elderly